หน้าเว็บ

Hi My friend

Thailand

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

วิกฤตภาวะโลกร้อนในประเทศไทย

วิกฤตภาวะโลกร้อนในประเทศไทย

เมื่อกล่าวถึงฤดูกาลต่างๆ ณ วันนี้ เรียกได้ว่าเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากทีเดียว ทั้งฤดูร้อนก็ยาวนานขึ้นและยังส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งในหลายพื้นที่ ส่วนฤดูฝนก็ตกจนไม่ลืมหูลืมตาทำให้เกิดน้ำท่วมทั่วทุกภาคของไทย ถ้าจะพูดถึงฤดูหนาวเรียกได้ว่าเด็กๆสมัยนี้แทบจะไม่รู้จักกันเลย เพราะใน 1 ปี มีอากาศหนาวไม่ถึง 2 อาทิตย์ แล้วตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้นกับโลกของเราล่ะ? ลองมาหาคำตอบกันดูดีกว่า

ภาวะโลกร้อนเริ่มมีการพูดถึงกันกว่า 10 ปีมาแล้วแต่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากว่ายังมีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ ณ วันนี้เกือบทุกประเทศทั่วโลกพร้อมใจกันหันมาให้ความสนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะว่ากำลังเผชิญหน้ากับผลกระทบที่ตามมาของภาวะโลกร้อน ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 9 ของโลก ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน ข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2543 ระบุว่า คนไทย 1 คนปล่อยก๊าซโลกร้อนมากถึงปีละ 2.18 ส่วนยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ มีส่วนในการสร้างภาวะโลกร้อนคนละ 19.68 ตันต่อปี หากเมื่อพิจารณาตามภาคอุตสาหกรรมสำคัญ พบว่าก๊าซโลกร้อนมาจากกิจกรรมของภาคการผลิตไฟฟ้า 43% ภาคการขนส่ง 32% และภาคอุตสาหกรรม 25%

เป็นที่ทราบเป็นอย่างดีแล้วว่าสาเหตุของอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ เกิดจากปรากฏการณ์เรือนกระจก (green house effects) โดยความหมายของคำนี้ก็คือ ในภาวะปกตินั้นโลกของเราจะมีก๊าซต่างๆ อยู่ในชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก แต่จะมีก๊าซกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนหลังคากระจกให้กับโลกตามธรรมชาติ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ คอยป้องกันไม่ให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังโลกสะท้อนกลับออกไปหมดเพื่อคงความอบอุ่นให้แก่สิ่งมีชีวิต แต่ปัจจุบันชั้นของหลังคากระจกกลับมีความหนาเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมนุษย์หันไปพึ่งการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ และจากกระบวนการเผาผลาญเชื้อเพลิงนี้เองที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญออกสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นอุณหภูมิของโลกจึงสูงขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อมูลที่น่าตกใจจากการคาดการณ์ว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2533 - 2643 อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 1.4 -5.8 องศาเซลเซียส สำหรับผลกระทบที่ตามมาไม่เพียงทำให้เกิดความแห้งแล้งเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ด้วย


ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวที่ประเทศไทยจะได้รับในอนาคตคือ?

  • ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเนื่องจากการละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นอีก 1 เมตรในอีก 100 ปีข้างหน้า ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อชายฝั่งทะเลของไทยทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเนื่องจากระดับน้ำที่สูงขึ้นทำให้พื้นที่ชายหาดแคบลงและอาจสูญหายไปเลย หรือแม้กระทั่งพื้นที่ป่าชายเลนที่อาจถูกแทนที่ด้วยหาดเลน และถ้ามีการรุกล้ำของน้ำทะเลเข้าสู่พื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้นก็จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการเกษตรกรรมของไทย
  • จากอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงทำให้มีการระเหยของน้ำบริเวณมหาสมุทร ทะเลสาบ แม่น้ำ และลำธารมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ความชื้นเพิ่มขึ้นด้วยจนก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงขึ้น บ่อยครั้งขึ้น และไม่เป็นไปตามฤดูกาล โดยเฉพาะประเทศไทยที่อยู่ในแนวพัดผ่านของพายุไต้ฝุ่นดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 จากพายุเกย์ ทำให้ทางภาคใต้ของไทยได้รับความเสียหายทั้งด้านที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ความหลากหลายในระบบนิเวศน์ลดลงด้วยเช่นกัน และปัญหาการระเหยของน้ำที่มากขึ้นถ้าเกิดในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำน้อยอยู่แล้ว เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็จะทำให้พื้นที่ดังกล่าวแห้งแล้งจนไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้เลย
  • เมื่อภัยธรรมชาติมีความรุนแรงขึ้นย่อมส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอนามัยของประชากรมากขึ้นไปด้วย ถ้ามองย้อนไปในอดีตปัญหาโรคระบาดเกิดขึ้นจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ซึ่งตรงข้ามกับปัจจุบันที่มีความเจริญทางด้านการแพทย์มากขึ้นแต่กลับต้องเผชิญหน้ากับปัญหาโรคระบาดอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะภัยธรรมชาตินั่นเอง เช่น เมื่อเกิดน้ำท่วมก็ทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคในแหล่งน้ำจนทำให้โรคอหิวาห์กลับมาระบาดอีกครั้ง หรือโรคติดต่อในเขตร้อนที่สำคัญได้แก่ มาลาเรีย ที่อาจเพิ่มการระบาดมากขึ้นไปอีก โดยมีสาเหตุจากการเพิ่มการขยายพันธุ์ของยุงที่เป็นพาหะของโรค
  • ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น